หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2553

เบบี้ก็กลุ้มใจเป็นนะ

เบบี้ก็กลุ้มใจเป็นนะ


แม้เด็กวัยนี้จะใช้เวลานอนเสียเป็นส่วนใหญ่ เรียกว่า 80 % ของเวลาที่มีอยู่ในหนึ่งวันลูกจะเอาแต่นอนหลับปุ๋ย พอตื่นขึ้นมาเขาจะรู้สึกว่าต้องการให้มีคนที่รักเขาอยู่เคียงข้าง ฉะนั้นถ้าสังเกตดีๆ จะรู้ได้ว่าทุกครั้งที่ลูกตื่น ลูกจะร้องไห้หาเราเพราะลูกต้องการให้มีคนคอยดูแลเอาใจใส่ และตอบสนองความต้องการเขาอย่างสม่ำเสมอไม่ว่าจะเป็นการสัมผัส การกอด การอุ้ม การปลอบประโลม หรือน้ำเสียงที่พูดอย่างอ่อนโยน

เรื่องปัญหาพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นฉี่ อึ ปวดท้อง หิว ร้องไห้ ถ้าเราสามารถตอบสนองลูกเป็นอย่างดี ลูกจะรู้สึกสบายใจ ไม่เครียด และพัฒนาความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย มองโลกในแง่ดี มีจิตใจคิดดีต่อผู้อื่นเมื่อถึงตอนโตโน้นเลยล่ะค่ะ

เด็กวัย 8-9 เดือนไปจนถึง 1 ปีจะเริ่มกลัวการพรากจากแม่อย่างที่สุด แค่เราเดินไปเข้าห้องน้ำ หรือเดินไปรินน้ำแล้วกลับมาอีกครั้ง ลูกจะเหลียวมองตาม หรือไม่ก็ร้องไห้เพราะกลัวเราหนีห่างไปไหน ฉะนั้นสิ่งที่ทำได้คือบอกให้ลูกรู้ว่าเราจะไปไหน และจะกลับมาภายในเวลาไม่นาน หรือส่งเสียงโผล่หน้าให้เห็นว่าแม่อยู่ไม่ไกล


ความรู้สึกกลัวของลูกเกิดขึ้นได้จากการแสดงของแม่ ซึ่งมีบทบาทต่อจิตใจลูกมาก คุณแม่ที่มีลักษณะขี้โวยวาย จู้จี้ เข้มงวด กระตุ้นหรือปกป้องลูกมากไป จะทำให้ลูกรู้สึกกังวล รู้สึกถูกทอดทิ้งและต้องการความสนใจ ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้ล้วนผลักดันให้เด็กเกิดความกลัวได้ค่ะ


พ่อแม่บางคนอาจไม่เข้าใจ คิดไปเองว่าลูกวัยเบบี้อาจกังวลใจไม่เป็น แต่ตราบใดที่ความต้องการพื้นฐานของเขาไม่ได้รับการตอบสนอง ความเครียดจะเกิดขึ้นกับลูกได้โดยที่เราเองก็นึกไม่ถึงค่ะ ฉะนั้นเด็กวัยแบเบาะนี่แหละถ้าเราให้ความรัก และเวลากับเขาอย่างเพียงพอ เขาจะอารมณ์ดี ไม่เครียด หัวเราะง่าย และรู้สึกมั่นคงทางอารมณ์และจิตใจ ซึ่งเมื่อเด็กอารมณ์ดี ไม่เครียดต่อไปเขาจะพัฒนาไปสู่การเรียนรู้ที่มีความสุข และพัฒนาการการเติบโตสมวัยอย่างที่เราต้องการค่ะ


ไม่อยากให้หนูเครียด ต้อง...


ช่วง 3 เดือนแรกถ้าเราตอบสนองลูก สบตาและพูดคุยกับลูกอย่างสม่ำเสมอ ลูกเริ่มมองตาเรา และมองตามเสียงเรียกของเรา เพราะลูกเริ่มรู้จักและคุ้นเคยกับเราแล้ว การตอบสนองลูกอย่างนี้ถือเป็นการให้ของขวัญล้ำค่ากับลูกวัยเบบี้เลยนะคะ เพราะเขาจะรู้ถึงความรัก และความผูกพันที่เรามีให้อย่างเต็มเปี่ยม


ฉะนั้นช่วงเวลาที่ลูกอายุ 0-1 ปีนี่แหละค่ะ ถือเป็นช่วงเวลาทองที่เราจะสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้ลูก เมื่อรู้อย่างนี้แล้วการให้นมลูก กอดลูกไว้ เล่นกับเขา หรือเอานิ้วมือให้เขากุม หรือนวด คุยกับเขาตลอดเวลา ลูกจะค่อยๆ ซึมซับความรักที่เรามีให้เขา และเขาจะเริ่มรู้สึกเป็นสุข และเป็นเด็กไม่เครียดง่าย ซึ่งความทรงจำที่ดีอันนี้จะฝังแน่นในจิตสำนึกของลูกไปจนตลอดชีวิตเลยเชียวค่ะ


พ่อแม่บางคนสามารถหาเกมต่างๆ มาช่วยกระชับความสัมพันธ์กับลูกวัยนี้ได้ โดยเล่นเกมปูไต่กับลูก หรือเล่นจั๊กจี้กับลูก หรือเล่นจ๊ะเอ๋ เล่นหน้ากระจก หรือแม้กระทั่งเวลาอาบน้ำเราสามารถหาตุ๊กตายางตัวเล็กๆ มาอาบเป็นเพื่อนลูกก็ได้อีกเหมือนกันค่ะ


อย่างที่บอกไว้ตั้งแต่ต้นค่ะว่า ลูกวัยนี้จะกลัวการพรากจากมาก เพราะเขาคิดว่าเขาคือส่วนหนึ่งของพ่อแม่ ฉะนั้นแค่เราหายไปแม้เพียง 2-3 นาที โลกทั้งโลกสามารถถล่มทลายลงไปต่อหน้าต่อตาได้ ด้วยเหตุนี้ถ้าเราต้องเดินไปไหนอย่างไปห้องน้ำ หรือไปทำกับข้าว หรือแม้แต่ไปทำงาน เราควรพูดลากับลูกด้วยใบหน้ายิ้มแย้มนะคะ ยิ่งถ้าเข้ามาโอบกอดลูก และกล่าวลาอย่างอบอุ่นจะช่วยให้ใจของลูกไม่รู้สึกเครียด หรือกลัวกับการจากลาของเราค่ะ


บางบ้านอาจจำเป็นต้องย้ายบ้านในช่วงลูกแบเบาะ หรืออาจต้องไปนอนค้างอ้างแรมกันในต่างจังหวัด ฉะนั้นการจากลาจากสิ่งแวดล้อมเดิมๆ จะทำให้ลูกเครียดได้ เมื่อรู้อย่างนี้แล้วเราสามารถนำตุ๊กตา หรือหมีตัวโปรด หรือผ้าห่มผืนโปรดติดตัวไปด้วยก็ได้ เพราะสิ่งของเหล่านี้จะช่วยให้ลูกรู้สึกเชื่อมโยงกับบ้าน และทำให้เขาไม่รู้สึกเคว้งคว้างเกินไปนัก


โดยรวมแล้วเด็กวัยนี้ต้องการให้เราตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำ การทำความสะอาดให้ยามที่เขาอึ ฉี่ หรือไม่สบายตัว และถ้าเราตอบสนองลูกด้วยความรัก และทนุถนอม สุขภาพใจที่เป็นสุขจะเกิดขึ้นและฝังแน่นไปจนตลอดชีวิตเลยเชียวค่ะ

ข้อมูลจาก : นิตยสาร ฉบับที่ 255 เดือนเมษายน พ.ศ. 2547

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น