หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2553

"เพื่อน" ของวัยเตาะแตะ

"เพื่อน" ของวัยเตาะแตะ



วัยอย่างเจ้าตัวเล็กนี้ยังมีอะไรอีกตั้งหลายอย่างที่กล้าๆกลัวๆ ก็เลยไม่ชัดเจนว่าจะเอายังไงกันแน่ บางทีเหมือนจะอยากอิสระ แต่ก็ยังติดแม่ บางทีอยากเล่นกับเพื่อน แต่พอเอาเข้าจริงก็ปลีกตัวไปเล่นคนเดียว พฤติกรรมเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลกค่ะ เป็นปกติของวัยที่กำลังค่อยๆพัฒนาการเข้าสังคมกับคนอื่นๆ เราสามารถจัดสรรสิ่งแวดล้อมและสร้างสถานการณ์ผ่านกิจกรรมต่างๆให้สอดคล้องและไม่ก้าวล่วงพัฒนาการของลูกมากเกินไปได้ เช่น

*หัดให้ลูกทำอะไรเอง ช่วยเหลือตัวเองในบ้างเรื่อง ยิ่งช่วงวัยใกล้ๆ 3 ขวบกล้ามเนื้อต่างๆทำงานได้ดีแล้ว กิจวัตรประจำวันง่ายๆคงต้องลองทำเอง ลูกจะได้เรียนรู้ว่า บางสิ่งบางอย่างนั้นอาจต้องอดทน ต้องรอคอย ต้องใช้ความพยายามจึงจะได้มา สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เข้าใจคนอื่นด้วย


*แม้ลูกจะเป็นเด็กตัวเล็กที่สุดในบ้าน ก็ต้องเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ เช่น เริ่มต้นสอนเรื่อง การแบ่งปัน การเสียสละ การแสดงออก เมื่ออยากได้ของว่าควรทำอย่างไร หรือเวลาคนอื่นมาหยิบเอาของๆเราไป เราควรจัดการอย่างไรดี จำไว้ว่าอย่าเลือกวิธีการ "ยอม" เพราะเห็นว่าลูกยังเด็กหรือ "ยอม" เพื่อตัดปัญหา เพราะเมื่อวันหนึ่งที่มีเพื่อน ไม่มีใคร "ยอม" เขาได้ตลอดเวลาเป็นแน่


*ปล่อยให้ลูกออกไปเล่นกับเพื่อนนอกบ้านบ้าง ไปสนามเด็กเล่นบ้าง พ่อแม่บางคนกลัวว่าเล่นกับเด็กคนอื่นแล้วลูกจะถูกรังแก หรือออกไปข้างนอกแล้วจะไม่ปลอดภัย สิ่งเหล่านี้คือการปิดกั้นการเรียนรู้เหล่านี้ และจะทำให้เด็กขาดโอกาสพัฒนาตนเอง ทางออกที่ดีที่สุดคือ คุณควรจะอยู่กับแกด้วย เพราะวัยนี้ไม่ว่าจะเล่นสนุกอย่างไรก็ยังอยากหันไปเห็นพ่อหรือแม่อยู่ใกล้ๆนั่นแหละนะ


*หรืออาจชวนเด็กๆเพื่อนบ้านเข้ามาเล่นกับลูก แต่คงต้องมีเทคนิคเลือกของเล่นประเภทที่เล่นร่วมกันได้หลายๆคน จะได้ไม่เกิดปัญหาวิวาทะกันขึ้น


*สอนลูกผ่านกิจวัตรประจำวันที่เกิดขึ้น เช่น พาลูกไปทำกิจกรรมต่างๆที่ได้เรียนรู้เรื่องการแบ่งปัน การให้ การรอคอย ไม่ใช่อะไรก็ตามใจไปเสียหมด


*เมื่อเปิดโอกาสให้ลูกได้มีกิจกรรมร่วมกับเด็กคนอื่นๆ หากเกิดกรณีทะเลาะเบาะแว้งหรือแย่งของเล่นกัน สำคัญที่สุดคือพ่อแม่ต้องหนักแน่นและใจกว้างพอที่จะมองว่า เป็นเรื่องธรรมดาของเด็กที่มีเล่นก็ต้องมีทะเลาะกัน แล้วอย่ารีบด่วนเข้าไปแก้ปัญหา ลองเฝ้าดูอยู่สักครู่ว่าเด็กๆสามารถคลี่คลายด้วยตัวเองได้มั้ย แต่อย่าให้ถึงขั้นลงไม้ลงมือกันนะคะ ถ้าเป็นอย่างนั้นต้องรีบห้ามทัพแล้วล่ะค่ะ


*เวลาไปเยี่ยมญาติหรือเพื่อบ้าน หยิบขนมนมเนยติดไม้ติดมือไปด้วย แล้วอย่าลืมให้ลูกเป็นคนมอบให้ด้วยล่ะ


เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างประสบการณ์ที่นำมาแลกเปลี่ยนกันค่ะ แต่ทั้งหมดนี้สำคัญที่ตัวเราผู้เป็นพ่อแม่ ต้องมองเห็นว่าเรื่องนี้ สำคัญต่อชีวิตของลูกแล้วรับรองเทคนิคดีๆก็คงพรั่งพรูมากมายแน่ๆ

ข้อมูลจาก : นิตยสาร ฉบับที่ 246 เดือนกรกฏาคม พ.ศ.2546

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น