เจ้าตัวเล็กวัยนี้มักทำให้อาการปวดเศียรเวียนเกล้าเกิดขึ้นกับพ่อแม่บ่อยๆ ด้วยพฤติกรรมของหนูที่แสนจะวุ่นวาย พ่อแม่หลายคนถึงกับอ่อนอกอ่อนใจ พาลอารมณ์บูดไม่เข้าใจว่าทำม้ายย ทำไม..ลูกที่แสนจะน่ารักเมื่อตอนแบเบาะ ถึงได้กลายเป็นเจ้าตัวแสบได้ขนาดนี้...
แต่ถ้าความรักในหัวใจพ่อแม่ มีความเข้าใจลูกอยู่ด้วย เรื่องวุ่นๆ ก็จะกลับกลายเป็นเรื่องดีๆ ที่มีผลต่อพัฒนาการที่ดีของลูกวัยนี้ได้เชียวล่ะ
โทมัส ซี แมคจินนิส และ จอห์น อายเรส เขียนไว้ในหนังสือ "ชีวิตและครอบครัว : การอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขว่า ความรักคืออาหารทางอารมณ์ของเด็กทุกคน และเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดสำหรับพัฒนาการด้านร่างกายและจิตใจของเด็ก"
ความรักนั้นพ่อแม่ทุกคนมีให้กับลูกอยู่แล้ว แต่ด้วยวัยและช่วงอายุของลูกก็สามารถทำให้พ่อแม่งงงวยกับพฤติกรรมของหนูๆได้ง่ายๆ ถึงตอนนี้รักอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องเพิ่ม "ความเข้าใจ" เข้าไปด้วยครับ
ซนเป็นลิงเป็นค่าง* เมื่อน้องต้นน้ำ จอมป่วนวัย 1 ขวบ 8 เดือน เผลอไปหยิบตุ๊กตาดินเผาตัวโปรดของแม่มาเล่น แล้วทำหล่นลงพื้นแตกกระจายๆ บางครั้งก็กระโดดลงจากโต๊ะ พาใจแม่คว่ำหายไม่เป็นท่า ก็เลยส่งเสียงดุด้วยความตกใจและเป็นห่วง แต่น้องต้นน้ำนี่สิกลับร้องไห้แงเพราะตกใจกับเสียงดุของแม่ไปแล้ว
เด็กๆ วัย 1-2 ปี ไม่ใช่วัยแบเบาะทำอะไรไม่ได้เหมือนเมื่อก่อนแล้ว เพราะกำลังแขนขาของลูกตอนนี้แข็งแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อลูกรู้ว่าแขนขาของตัวเองแข็งแรงดีแล้วก็เลยอยากทดลองออกไปสู่โลกกว้าง ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของเขาเองครับ
ช่วงนี้หนูก็เลยชอบเหวี่ยงโน่นเหวี่ยงนี่ลงพื้น เท่านั้นไม่พอยังหันมายิ้มเผล่ให้ เหมือนจะยั่วอารมณ์ หากคุณแม่เผลอไผลตะคอกใส่ ไม่ดีแน่ครับ นอกจากจะทำให้หนูตกใจกลัวและเกิดความไม่ไว้วางใจแล้ว ยังไปปลูกฝังความรุนแรงให้ลูกโดยไม่รู้ตัวอีก พ่อแม่จึงต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ให้ดี แม้จะรักหวงของยังไงก็ตาม ทางที่ดีควรจัดบ้านให้เป็นที่เป็นทาง หาของเล่นที่เอื้อต่อพัฒนาการหนู เช่น ลูกบอลยางที่เขวี้ยงยังไงก็ไม่แตก หรือปล่อยให้หนูได้กระโดดโลดเต้นบ้าง แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัย เช่นยอมให้กระโดดจากเก้าอี้เตี้ยๆไงครับ
ไม่ๆๆๆ ยังไงก็ไม่
* น้องต้นน้ำเคยชอบกินโจ๊กเละๆ ฝีมือคุณแม่เหลือเกิน แต่ไหงพอโตขึ้นมา ไอ้โน่นก็ไม่เอาไอ้นี่ก็ไม่เอา ช่างเลือกกินนักเชียวพูดอย่างเดียวว่าไม่ ไม่ๆๆๆๆ และ ไม่ ทำเอาแม่อ่อนอกอ่อนใจจนเผลอดุว่า "เออ ไม่อยากกินก็ไม่ต้องกินเดี๋ยวปล่อยให้ผอมตายไปเลย" หรือบางทีรั้นจะติดกระดุมเสื้อหรือรูดซิบเอง ทั้งๆ ที่ยังทำไม่เป็น จะเข้าไปช่วยก็ไม่ให้ช่วย แถมโวยวายงอแง เพราะอะไรน้าาา ทำไมหนูเป็นแบบนี้ล่ะ ?
ก็ลูกวัยนี้ยังยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางอยู่มาก อยากเป็นอิสระต้องการแสดงออกถึงพลังอำนาจของตนเอง ถึงเอาแต่ปฏิเสธยังไงล่ะครับ และนอกจากนั้นยังเป็นวัยที่อยากจะทำอะไรด้วยตัวเองอีกด้วย แต่ถึงจะดื้อยังไงหนูๆ ก็มีหัวใจนะครับ ไม่ชอบถูกดุถูกว่าหรอก แต่ชอบคำชม ฉะนั้นวิธีที่ดีคือพ่อแม่ควรค่อยๆ บอกลูก ค่อยๆ ชมค่อยๆ ชักชวนโดยใช้คำพูดที่อ่อนโยน เช่น "ลองกินดูนะลูกนะ กินแล้วเราจะได้ไปวิ่งเล่นกัน อ้ำ ลูกแม่เก่งจังเลยค่ะ " ไพเราะกว่าประโยชน์ข้างบนตั้งเยอะแถมหนูยังยอมกินข้าวอีกนะกรี๊ดๆๆๆๆๆ ทำไมล่ะลูก
* ต้นน้ำ เล่นแต่งตัวพี่หุ่นยนต์ พยายามเหลือเกินที่จะใส่รองเท้าให้หุ่นยนต์ตัวโปรด แต่ยังไงๆ ก็ใส่ไม่ได้ หันรีหันขวางมองไม่เห็นใคร หุ่นยนต์ตัวโปรดก็ถูกเหวี่ยงติดผนังบ้านพลั่กใหญ่ ตามมาด้วยเสียงกรี๊ด ด้วยความขุ่นเคืองของต้นน้ำ ยังความสงสัยและเหนื่อยใจแก่คุณแม่อย่างหนัก จนถึงขั้นลลงมือเผลียะทำเอาหนูร้องไห้ไม่หยุดคุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า จริงอยู่ที่วัยนี้ต้องการทำอะไรด้วยตัวเอง แต่ยังไงหนูๆ ก็มีความรู้สึกก้ำกึ่งอยู่ระหว่างพึ่งตนเองกับพึ่งคนอื่น ดังนั้นถ้าหนูพึ่งตนเองไม่ได้ก็จะต้องพึ่งพ่อแม่ล่ะ แต่พอหันมาไม่เห็นแม่ก็เลยร้องแงๆ ตีอกชกหัว พี่หุ่นยนต์เลยรับเคราะห์ไป พ่อแม่จึงต้องเข้าไปช่วยครับ เช่น ช่วยสอนลูกให้ใส่รองเท้าให้กับหุ่นยนต์ แต่ห้ามใส่รองเท้าหุ่นยนต์ให้ลูกเลยนะครับ เพราะเท่ากับเป็นการไปตัดโอกาสการเรียนรู้ของลูกครับเอาแต่ใจเหลือเกินนะลูกนะ
* น้องต้นน้ำเห็นตุ๊กตาหุ่นยนต์คาเมนไรเดอร์ของน้องเหมี่ยวเลยอยากได้ อาละวาดจะเอาๆ แค่ร้องยังไม่พอ ลงไปกลิ้งเกลือกนอนกับพื้นดิ้นพราดๆ ต่อหน้าธารกำนัล แม้แม่พร่ำบอกว่าจะซื้อให้วันหลังก็ไม่ยอม ทำเอาพ่อแม่อายสุดๆ ที่สุดก็เลยถูกตีแถมดุด้วยว่า "เงียบสิ ไม่เงียบแม่ไม่รักนะ"
พ่อแม่ต้องใจเย็นไว้ครับสำหรับการรับมือกับเด็กวัยนี้ ก็หนูๆ ยังไม่รู้จักควบคุมตัวเองดีพอ เพราะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของวัยทารกกับวัยเด็ก หนูยังต้องเรียนรู้ที่จะรอ เพราะตอนแบเบาะพอหิวก็ร้องแล้วก็ได้กินนมเกือบจะทันที โตขึ้นมาหน่อยอยากได้อะไรก็เลยร้องจะเอาให้ได้ ไม่รู้จักการรอ ครับเมื่อลูกอาละวาดไม่ควรดุด่าว่ากล่าว หรือเอาคำรักมาขู่เพื่อให้ลูกหยุดพฤติกรรมนั้น แต่ควรเข้าไปปลอบประโลม กอดจนลูกสงบลง การปลอบโยนไม่ใช่การยอมนะครับ แต่เป็นการทำให้ลูกสงบและรับฟังเหตุผล หรือเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจลูกไปเรื่องอื่นแทน ที่สำคัญไม่ควรยอมให้ของรางวัลเพื่อหวังให้ลูกเงียบ เพราะจะเท่ากับคุณยอมแพ้อาการงอแงขอความเห็นใจแบบนี้ของลูก ซึ่งจะทำให้ลูกรู้ว่าวิธีนี้ได้ผลแฮะ ขืนเป็นอย่างนี้บ่อยเข้าโตขึ้นหนูจะกลายเป็นคนเอาแต่ใจได้ครับ
เชื่อครับว่าพ่อแม่ทุกคนรักและห่วงใยลูก แต่รักและห่วงใยยังไม่พอครับ ต้อง"เข้าใจ"พัฒนาการทุกย่างก้าวของลูกด้วย เพื่อจะได้ส่งเสริมลูกได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับวัยทั้งทางอารมณ์และจิตใจครับ
ข้อมูลจาก : นิตยสาร Modern Mom ฉบับที่ 90 เดือนมกราคม พ.ศ.2546
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น