พูดและสัมผัส...ทางลัดพัฒนาการดี
จากเสียงสะท้อนของคุณแม่ "คุยกับลูกบ่อยๆกลัวเขารำคาญค่ะ อยากให้นอนมากกว่า และบางทีรู้สึกพูดไปเขาก็ไม่รู้เรื่อง เอาเวลาไปทำงานบ้านดีกว่า ครั้นจะมัวอุ้มมัวเล่นกับเขา ก็อย่างบอกแหละว่า เขายังไม่ประสีประสาอะไรเลย"
ชาวดวงใจได้ยินอย่างนี้ก็รู้สึกว่าเกิดความเข้าใจผิดกันใหญ่แล้ว เพราะการพูดและการสัมผัสของพ่อแม่มีส่วนช่วยเพิ่มพัฒนาการของเด็กมาก เรามาร่วมพิสูจน์กันเถอว่า การคุยหรือสัมผัสกับลูกนั้นไม่ใช่สิ่งที่เสียเวลาเปล่าเลย
การพูดคุยกับลูกนี้มีดีอย่างไร :
การพูดคุยระหว่างกัน ทั้งคุณพ่อคุณแม่และคุณลูก เป็นสายสัมพันธ์ที่คนภายนอกอาจมองไม่ชัด และไม่อาจหยั่งถึงความอบอุ่นนี้ได้มากเท่ากับการสัมผัส จนหลายคนคิดว่าการพูดกับทารกไม่สำคัญ แต่พัฒนาการทางภาษาก็จะเริ่มตรงนี้แหละคะ ทารกจะได้เรียนรู้สิ่งต่างๆรวมทั้งภาษาก็อีตอนคลอดออกมาแล้วนี่ล่ะ แม้ช่วงนี้จะยังได้แค่ฟังก็เถอะ
แล้วทราบไหมคะว่าเจ้าหนูตัวจ้อยนี้จะเรียนรู้ได้เร็วมาก ขนาดพวกนักวิทยาศาสตร์ยังกล่าวเลยว่า จริงๆแล้วทารกได้ยินเสียงคุณพ่อคุณแม่เจื้อยแจ้วตั้งแต่อยู่ในท้องแล้ว และสามารถแยกแยะเสียงแม่จากเสียงอื่นๆได้ ซึ่งเมื่อเขาออกมาก็จะเข้าใจว่าเสียงไหนคือเสียงแม่ ลูกสามารถจับอารมณ์และความรู้สึกจากน้ำเสียงพ่อแม่ได้ (อย่าคิดนะว่าทะเลาะกันแล้วหนูจะไม่รู้)
รู้ไหม...เสียงของพ่อแม่มีค่ามหาศาล :
ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้ยกขึ้นมาลอยๆนะ เพราะนักจิตวิทยาชื่อ Anne Fernald จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้ศึกษาและค้นพบว่า พ่อแม่มักจะพูดคำสั้นๆและยื่นหน้าเข้าไปใกล้หน้าเด็ก เมื่อเด็กจับน้ำเสียงได้หัวใจของเขาก็จะเต้นแรงและเร็วขึ้น โดยไม่จำกัดภาษาว่าจะเป็นภาษาไหน ทั้งนี้เมื่อเด็กได้ยิน เส้นใยประสาทจะตอบสนองและมีการเชื่อมโยงกัน สมองก็จะสร้าง Building Block ขึ้นเพื่อเรียนรู้คำพูดและมีพัฒนาการด้านภาษาต่อไป
คุยส่งผลอะไรให้เจ้าหนูบ้าง :
* อย่างแรกเจ้าหนูทั้งหลายจะสามารถจดจำคำศัพท์ เรียบเรียงคำ เรียนรู้รูปประโยค และมีความเข้าใจความหมายของคำมากขึ้น รู้สึกอยากโต้ตอบกับคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น
* สมองจะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะหากไม่มีใครพูดกับเขาหรือเขาถูกปิดจากโลกภายนอก สมองก็จะพัฒนาไม่ปกติ ทั้งนี้สมองเด็กยังต้องการการกระตุ้นจากเสียงพูดและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเพื่อการพัฒนาที่สมบูรณ์
* เขาจะรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว รู้สึกเป็นคนสำคัญเมื่อมีคนมาพูดหรือคุยด้วยค่ะ รู้สึกไว้ใจมีความอบอุ่นและมีอารมณ์มั่นคง
หากแม่ไม่รู้จะพูดอะไร?...ทำไงดี
- เพิ่มคำพูดจากกิจกรรมต่างๆก็ได้ค่ะ เช่น "ลูกรุ้งกินนมแม่นะ" หรือ "รุ้งอาบน้ำเย็นๆดีนะ" ฯลฯ
- อย่าคิดว่าพูดไปเขาก็ยังไม่รู้เรื่อง ควรเริ่มจากศัพท์ง่ายๆ ว่างๆเล่านิทานให้ฟังก็ยังได้
- ร้องเพลงกล่อม วิธีเบสิกที่ใช้ได้ผลกับเด็กทุกคน เสียงหวานๆของแม่พร้อมทำนองเบาๆ สบายหูอย่าบอกใคร
- บางครั้งลองปล่อยให้ลูกเป็นคนนำการเล่นและเราก็เล่นตามเขาบ้าง พูดอือออตามเขา ให้รู้สึกว่าเราตอบรับในสิ่งที่เขาพูด
พูดด้วยสัมผัสด้วย ครบสูตร :
อย่าเห็นเป็นเรื่องเสียเวลาเลยค่ะ เพราะการใกล้ชิดกับลูกเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เนื่องจากแรกเกิดสมองของเด็กจะมีเซลล์ประสาทอยู่หนึ่งแสนล้านเซลล์ และเมื่อเด็กเริ่มโตขึ้น หรือได้รับการกระตุ้นจากพ่อแม่หรือสิ่งแวดล้อมรอบตัว ยิ่งได้รับการโอบกอดพูดคุยด้วย เซลล์ประสาทแต่ละเซลล์ก็จะส่งเส้นใยเชื่อมโยงกันมากขึ้นค่ะ
ยกตัวอย่าง เมื่อคุณแม่อุ้มลูกแนบอก ไม่เพียงทำให้เจ้าหนูหลับสบายเท่านั้น แต่ยังเป็นการกระตุ้นความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูก ลูกจะได้ยินเสียงหัวใจแม่ เซลล์สมองลูกจะพัฒนา และตัวแม่ก็จะรู้สึกสามารถปกป้องคุ้มครองลูกให้ปลอดภัยได้
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่า เด็กที่ถูกเลี้ยงด้วยนมแม่และมีการสัมผัสตัวบ่อยๆ จะมีไอคิวสูงกว่าเด็กที่ไม่ได้รับการสัมผัส หรือขาดการกระตุ้นตั้งแต่แรก การกระตุ้นประสาทสัมผัสของเด็ก เช่น การจับมือ จับเท้า หรือแม้แต่การลูบเนื้อลูบตัว จะมีส่วนช่วยกระตุ้นกลุ่มเซลล์สมองให้เด็กมีความฉลาดมากขึ้นค่ะ
เทคโนโลยีอย่างพวกของเล่นฝึกพัฒนาการมีส่วนช่วยได้ก็จริง แต่จากการสำรวจพบว่าเด็กที่อยู่ในสังคมที่ไม่ค่อยมีสิ่งเหล่านี้แต่ได้รับการดูแลจากพ่อแม่อย่างใกล้ชิด จะมีปฏิสัมพันธ์และความสนใจต่อสิ่งแวดล้อม มากกว่าเด็กที่อยู่กับเทคโนโลยีถึงร้อยละ 25 เชียวค่ะ
สัมผัส...เรื่องธรรมชาติของพ่อแม่ลูก
- การที่พ่อแม่สัมผัสลูกไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่ขอให้ตั้งใจทำให้ลูกรู้สึกได้ว่าเราห่วงใยและรักเขาจริงๆ
- อย่าปล่อยให้พี่เลี้ยงอุ้ม หรือทำกิจกรรมให้น้องหนูตลอด ก็แหม..ลูกเราไม่ใช่ลูกเขาอันไหนะทำเองได้ก็ทำให้เถอะค่ะ เช่น อาบน้ำ เปลี่ยนผ้าอ้อม อุ้ม ให้นม ฯ ส่วนพี่เลี้ยงก็ให้เขาช่วยอย่างอื่นไป ความสัมพันธ์ของเรากับลูกจะได้แน่นแฟ้นมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้สำคัญกว่าของเล่นราคาแพงเป็นไหนๆ
- หาเวลาเล่นด้วยกันเยอะๆ ทำอะไรจุกจิกสนุกๆ หันไปหันมาไม่รู้จะเล่นอะไรแค่นอนกอดกันเฉยๆก็เพิ่มความใกล้ชิดได้แล้ว
- อย่าลืมว่าน้องหนูก็ต้องการพ่อด้วยเหมือนกัน เพราะหลายอย่างของพ่อกับแม่ไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นสัมผัสที่แตกต่าง น้ำเสียง ผิว ความหยาบหรือนุ่มของมือ และอื่นๆอีกมากมาย หนูจะได้รับสัมผัสที่แตกต่าง เพิ่มความจำว่าสัมผัสอย่างมั่นคงแข็งแรงนี้คือพ่อ อ่อนโยนอย่างนี้คือแม่
เปรียบเทียบเด็กที่ได้รับการพูดคุยและการสัมผัสอย่างสม่ำเสมอและเด็กที่ไม่ได้รับ
*เด็กได้รับการกระตุ้น*
- สมองพัฒนาตามขั้นตอน
- สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดี
- มีความมั่นคงและควบคุมอารมณ์ได้
*เด็กที่ไม่ได้รับการกระตุ้น*
- สมองพัฒนาช้ากว่าที่ควรจะเป็น
- มีปัญหากับการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมที่แปลกออกไป
- อารมณ์ไม่มั่นคง หวั่นไหวง่าย
ข้อมูลจาก : นิตยสาร ฉบับที่ 85 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2545
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น